ของที่ระลึกมีจำหน่ายมากบริเวณห้าแยกหอนาฬิกา หน้าโรงเรียนเทศบาล ๔ ถนนรอบเวียงและกาดม่วนใจ๋ตรงสี่แยกทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ตามร้านต่าง ๆ มีชามตราไก่อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำปาง รถม้าย่อขนาด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเซรามิกหลากหลายรูปแบบ ส่วนร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมืองส่วนใหญ่อยู่บนถนนทิพย์ช้างและถนนบุญวาทย์ ของกิน เช่น แหนมเขลางค์ ถนนทิพย์ช้าง แหนมสมศรี ถนนป่าไม้ แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว หมูยอ ข้าวแต๋น หาซื้อได้ที่ตลาดเช้ารัษฎาหรือตลาดอัศวินซึ่งเป็นตลาดตอนเย็น บนถนนท่าคราวน้อย
สินค้าพื้นเมือง
ผ้าทอมือ
ในบางหมู่บ้านที่ยังมีการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง โดยใช้ฝ้ายที่ปลูกขึ้นเองแล้วนำมาย้อมสีธรรมชาติ พื้นที่ปลูกฝ้ายพันธุ์ดีอยู่ที่อำเภอแจ้ห่ม บ้านทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวนิยมทอเป็นผ้าลายยก ส่วนที่บ้านหลวง อำเภอแม่ทะ นิยมทอเป็นลายเชิง นอกจากนี้ยังมีที่ร้านบ้านฝ้าย ถนนพหลโยธิน อำเภอเมืองลำปาง ซึ่งมีโรงทอผ้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือประณีต
ไม้แกะสลัก
มีที่หมู่บ้านแกะสลัก บ้านหลุก ตำบลนาครัว ห่างจากอำเภอแม่ทะประมาณ ๒ กิโลเมตร ส่วนใหญ่ใช้ไม้ฉำฉา จามจุรี แกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า สิงโต กวาง และทำเป็นเครื่องใช้ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา
เซรามิก
เนื่องจากลำปางเป็นแหล่งดินขาวคุณภาพดีและมีมากที่สุดในประเทศไทยเมื่อนำไปเผาไฟจะได้ดินขาวที่มีคุณภาพทนทานมากจึงมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเคลือบดินเผาจำนวนมากอยู่สองฝั่งถนนเส้นทางเข้าตัวเมือง ผู้สนใจสามารถเข้าชมกรรมวิธีการผลิตและเลือกซื้อสินค้าได้ที่โรงงาน
กระดาษสา
เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของบ้านน้ำโท้ง จนมีชื่อเรียกว่ากระดาษน้ำโท้ง และยังมีการผลิตที่บ้านบ่อแฮ้ว อำเภอห้างฉัตร กระดาษสานี้ทำมาจากกระดาษปอสาซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน เนื้อเยื่อเหนียว สามารถประดิษฐ์เป็นของใช้และของที่ระลึกสวยงามหลายรูปแบบ เช่น ร่ม โคมไฟ ไส้เทียน ดอกไม้แห้ง กรอบรูป กระเป๋า และของชำร่วยอื่น ๆ
รถม้าย่อขนาด
เป็นของฝากที่ผู้รับจะต้องประทับใจในงานศิลป์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาจากความประณีตละเอียดอ่อนของผู้ที่มีความผูกพันและเข้าใจองค์ประกอบทุกส่วนของรถม้า เพราะสร้างให้ขยับเขยื้อนได้ มีการตกแต่งรถม้าและเครื่องแต่งกายของสารถีได้สวยงามเหมือนรถม้าจริง