ททท. ขอเชิญร่วมแขวนโคมแบบ New Norm พลังศรัทธาที่มาของเทศกาลโคมแสนดวงที่ลำพูน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้จัดงานเทศกาลกาลโคมแสนดวงภายใต้การบูรณาการของหลายภาคส่วนทั้งวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวาหาร สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน เทศบาลเมืองลำพูน และ ททท. จึงจำเป็นที่จะต้องปรับรูปแบบการนำเสนอกิจกรรมโดยเน้นการเยือนชุมชนยลวิถีการทำโคมลำพูนกับการสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชนผู้ผลิตโคมล้านนาหลากสีนำมาส่งต่อให้กับวัดและสถานศักดิ์สิทธิ์     ในเมืองลำพูน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย และถวายเพื่อเคารพสักการะพระนางเจ้าจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลำพูนที่ถือเป็นแหล่งแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาเที่ยวชมความงดงาม พร้อมทั้งเขียนข้อความอธิษฐานขอพรลงบนโคม ก่อนจะนำไปแขวนไว้ตามจุดต่างๆ นับเป็นภาพสะท้อนความศรัทธาของชุมชนในเมืองบุญแห่งล้านนาของนครหริภุญชัย

เทศกาลโคมแสนดวงเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็ง ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน จนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การถวายโคมเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัยนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงความศรัทธาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำพูนรวมไปถึงผู้ที่เกิดปีระกา และประชาชนทั่วไป เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีล้านนา รวมถึงการถวายโคมเพื่อเคารพสักการะพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย

เมื่อถึงงานเทศกาลยี่เป็ง ชาวล้านนาจะนิยมประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามด้วยการจุดผางประทีปหรือประดับโคมไฟให้สว่างสดใสตลอดช่วงเทศกาล ชาวล้านนาเชื่อว่าการทำโคม เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่ประทับ  บนสรวงสวรรค์ และแสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งนี้      เทศบาลเมืองลำพูน จึงร่วมกับชุมชนได้ทำการเตรียมโคมหลากสีสัน จำนวนกว่า 150,000 โคม ไว้รองรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และบูชาโคม พร้อมทั้งเขียนชื่อและข้อความอธิษฐานขอพรลงบนโคม แล้วแขวนตามจุดสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นพุทธบูชา ให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ร่วมถึงเป็นการสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อของชาวล้านนา

ชุมชนจามเทวี เป็นหนึ่งในชุมชนที่มีการทำโคมกันอย่างแพร่หลาย ป้าประภาศรี วนิชกุล ประธานชุมชนจามเทวี กล่าวถึงเทศกาลโคมว่า โคมเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและความศรัทธาของคนลำพูน นอกจากประโยชน์ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้ให้กับชุมชน จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามให้ข้อมูลและวางทิศทางเพื่อการพัฒนาอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประดิษฐ์โคมและต่อยอดในการฝึกทักษะการทำโคมให้กับชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย รวมถึงเด็กและเยาวชน ให้สามารถประดิษฐ์โคมเพื่อนำมาจำหน่ายในช่วงเทศกาล รวมถึงเป็นการสืบสานภูมิปัญญาในการประดิษฐ์โคมล้านนาที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น โคมธรรมจักร โคมดาว โคมไห โคมเพชร ฯลฯ โคมต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ใช้ ไม้ไผ่นำมาขึ้นโครง ติดกระดาษสาหรือผ้าดิบ ตัดลายกระดาษสีเงิน สีทอง ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม    ในปัจจุบันโคมถูกนำไปใช้อย่างหลากหลาย เช่น ประดับตกแต่งโรงแรม รีสอร์ท วัด หรือสถานที่ต่างๆ เพื่อความสวยงาม เทศกาลโคม จึงไม่ได้แฝงแค่ความสวยงามของการท่องเที่ยว แต่ยังแฝงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นทั้งเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาและขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ดีงาม

จากความเข้มแข็งของชุมชนและความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญา มาสร้างมูลค่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ให้เกิดการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน เป็นที่ทราบกันว่าการจัดงานเทศกาลโคมแสนดวงได้มุ่งมั่นดำเนินการภายใต้แนวคิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำโคมให้กับชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงเด็กและเยาวชน  ให้สามารถประดิษฐ์โคม เพื่อนำมาจำหน่าย จนสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชนและครอบครัวอย่างแท้จริง โดยอาศัยพลังศรัทธาจนกลายเป็นที่มาของการแขวนโคมแสนดวงเพื่อความสว่างไสวในโดยมีวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีวีรสตรีแห่งนครหริภุญชัย โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 21.00 น. โคมแสนดวงที่เมืองลำพูน มี 2 จุด ประกอบด้วย จุดแรก ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมืองลำพูน บูชาโคมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระธาตุหริภุญชัย ราคาโคมละ 99 บาท โคมทุกดวงที่มีสัญลักษณ์รูปพระธาตุหริภุญชัย จะได้แขวนคู่ดวงไฟที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ โคมที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้บูชา ขนาดเหมาะสมกับการแขวนคู่ดวงไฟ ทนแดด ทนฝน ตลอดระยะเวลาของเทศกาลร่วม 2 เดือน และที่สำคัญรายได้จากการบูชาโคม จะส่งมอบไปถึงประชาชนที่รับทำโคมโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางแต่อย่างใด จุดที่สอง ณ ลานอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี อ.เมืองลำพูน บูชาโคมเพื่อถวายสักการะพระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์แห่งเมืองหริภุญชัย โคมที่ถวายแล้วจะถูกนำไปประดับตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญโดยรอบเมืองลำพูนต่อไป (สำหรับรายได้จากการจำหน่ายโคมนั้น เป็นของชาวบ้านที่ใช้เวลาว่างในการทำเพื่อสร้างรายได้ เช่นเดียวกับกลุ่มชาวบ้านที่ทำโคมให้กับวัดพระธาตุหริภุชัย โดยมากจะเป็นเครือข่ายเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองลำพูน) ทั้งนี้ เทศบาลเมืองลำพูน ได้จัดมาตรการรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อความปลอดภัยสูงสุด กำหนดให้สามารถทำกิจกรรมได้รอบละ 50 คน ครั้งละ 20 นาที ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 – 22.00 น. เปิดให้เข้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป

นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวถึงที่มาของชุมชนคนทำโคมลำพูนว่า เกิดขึ้นมาจากความต้องการที่จะให้คนในขุมชนทั้งผู้สูงอายุ และเยาวชนมีรายได้รวมทั้งฟื้นวิถีวัฒนธรรมของเมืองรวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการนำโคมเป็นพุทธบูชา ขอพรและบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดลำพูนและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อความเป็นศิริมงคล โดยในปีนี้เพื่อวิถีการท่องเที่ยวแบบ New Norm รักษาระยะห่างของการแขวนโคม เทศบาลเมืองลไน จึงกำหนดจองคิวเที่ยว  ‘เทศกาลโคมแสนดวงเมืองลำพูน’ ณ ลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ล่วงหน้าผ่าน QR Code หรือจองคิวก่อนแขวนโคม ที่ลิงค์ > http://www.lmwcc.com/modules/rejisjam/prejisjam/ ขั้นตอนลงทะเบียน จองคิวเที่ยว ‘เทศกาลโคมเมืองลำพูน’ 1. สแกน  QR Code 2. ระบุชื่อ-สกุล เบอร์โทรศัพท์ และกดเลือก ‘วัน’ ที่ต้องการไปเที่ยว3. กดเลือก ‘ช่วงเวลา’ ที่ต้องการไปเที่ยว กดยืนยัน 4. กดยืนยัน = การจองสำเร็จ (ถ้าไม่ไปตามเวลาที่กำหนดจะถือว่าสละสิทธิ์)….เมื่อถึงเวลาที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว ควรไปถึงลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ก่อนเวลา 10 นาที นำรายการจองในโทรศัพท์แสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเช็ครายละเอียดการจอง จากนั้นนักท่องเที่ยวเช็คอินผ่านระบบไทยชนะ/ลงทะเบียน ตรวจวัดอุณหูมิที่จุดคัดกรอง จึงจะเข้าไปท่องเที่ยวภายในลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีได้  เมื่อเที่ยวเสร็จต้อง เช็คเอาท์ ผ่านระบบไทยชนะ ทั้งนี้ภายในลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จะมีมาตราการความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค บริเวณต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ทุกคนสามารถท่องเที่ยวพักผ่อนได้ปลอดภัยอย่างไร้กังวล สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้จองล่วงหน้า ยังสามารถเดินทางมาท่องเที่ยว‘เทศกาลโคมเมืองลำพูน’ ณ อนุสาวรีย์พระนางจามเทวีได้ตามปกติ แต่จะให้สิทธิ์กับผู้ที่ทำการจองผ่านทาง QR Code ก่อน ซึ่งหากผู้จองผ่าน QR Code ไม่มาตามเวลาจอง เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้จองเข้าไปท่องเที่ยวได้ ….เพื่อเตรียมพร้อมรองรับมาตราการการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ลดความแออัดในรูปแบบ “New Normal” ลดความเลี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 และดำเนินการตามรูปแบบ D-M-H-T-T-A เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นางสาวยุรีพรรณ แสนใจยา ผอ.ททท.สำนักงานลำปาง กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่านอกจากจะนำเสนอวิถีชุมชนคนทำโคมแล้วยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่นๆ อาทิ กู่ช้างกู่ม้า วัดจามเทวี วัดพระยืน พระธาตุอินทร์แขวน ความมหัศจรรย์ ของหินที่ซ้อนกันอยู่บนเนินเขาที่น่าจะหลุดออกจากกันแล้วหล่นจากยอดเนินเขาแต่กลับซ้อนกันอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ  จบทริปด้วยบ้านพ่อเลี้ยงหมื่น อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความสนใจ เป็นแหล่งผลิตงานศิลปะดินเผาชั้นเลิศ โดยการนำงานปั้นมาจัดแสดงโชว์ ในสวนกลางแจ้งบนเนื้อที่ 150 ไร่ เปรียบเสมือนลานโชว์รูมขนาดใหญ่ในสวนกลางแจ้งรวมไปถึงพันธุ์ไม้หายากของจังหวัดลำพูนและดอกไม้ไทยในวรรณคดีเอามาไว้ ณ ที่แห่งนี้  ให้เราได้ศึกษาและเยี่ยมชมกัน จังหวัดลำพูนยังมีอะไรดีๆที่รอการมาเยือน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง โทร. 054-222214 www.tourismlampang-lamphun.com

Event details

Photo gallery