ททท.ลำปาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางศรัทธา 3 ครูบาเมืองหละปูน

พุธ 1 ก.ค. 2020

“เส้นทาง๑๐๖ ศรัทธา ๓ ครูบาสู่ล้านนาหละปูน”

จังหวัดลำพูน จังหวัดเล็กๆที่สงบ เงียบและเรียบง่ายแต่ยังคงวิถีอัตลักษณ์ได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็นวิถีของคนเมืองที่แม้จะมีหลากหลายชาติพันธุ์แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเลือนหาย นั่นก็คือ ความศรัทธา ที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ใครบ้างที่จะรู้ว่าจังหวัดลำพูน เป็นแหล่งกำเนิดของตนบุญแห่งล้านนา ผู้ยิ่งใหญ่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีครูบาที่มีศิษยา-นุศิษย์ให้ความเคารพและมากด้วยพลังศรัทธา

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนเชื่อมโยงกับจังหวัดลำปางในเส้นทางหลวงหมายเลข 106(เถิน – ลี้ – บ้านโฮ่ง – ป่าซาง – ลำพูน) ซึ่งอดีตเคยเป็นเส้นทางหลักของผู้คนในการสัญจรสู่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำพูน และเชียงใหม่ ก่อนที่จะมีเส้นทางถนนพหลโยธินทางหลวงหมายเลข 1 จากเดิมสู่ลำปางผ่านดอยขุนตานสู่จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยกำหนดชื่อเส้นทางท่องเที่ยวเส้นทางนี้ว่า“เส้นทาง ๑๐๖ ศรัทธา ๓ ครูบาสู่ล้านนาหละปูน” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง ได้นำคณะผู้สื่อข่าวลงสำรวจพื้นที่ท่องเที่ยว ย้อนเส้นทางจากลำพูนสู่ลำปางดังนี้

ครูบาท่านองค์แรก คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย แห่งวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จ.ลำพูน ตนบุญแห่งล้านนนาที่มีผู้ศรัทธาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ท่านถือกำเนิดที่ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ ท่านได้ก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรวัดวาอารามในล้านนาไว้มากมายในพื้นที่ภาคเหนือ

วัดบ้านปาง บ้านเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรกและยังเป็นสถานที่ดับขันธ์มรณภาพของตนบุญแห่งล้านนา ในบริเวณวัดมีความร่มรื่น เมื่ออยู่ด้านบนก็จะมองเห็นวิวทิวทัศน์ สวยงามเนื่องจากวัดตั้งอยู่บนเนินเขา มีโบราณสถานอันเก่าแก่เมื่อครั้งสมัยที่ครูบาศรีวิชัยยังมีชีวิตอยู่ก็คือพระวิหารหลวง ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนา ลักษณะอ่อนช้อยสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งมีโบสถ์วิหารที่สวยงามรวมไปถึงมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาศรีวิชัยซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน

ครูบาท่านองค์ที่สอง คือ ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี แห่งวัดพระพุทธบาทผาหนาม อำเภอลี้ จ.ลำพูน
ศิษย์เอกของครูบาเจ้าศรีวิชัยแห่งวัดพระพุทธบาทผาหนาม ครูบาผู้มีจริยวัตรที่งดงาม ผู้สืบต่อสานงานพัฒนาจากครูบาเจ้าศรีวิชัยในฐานะนักบุญ ครูบาผู้ทรงความงดงามในศีล บารมี ไม่แพ้ท่านอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยนอกจากนี้ท่านยังได้เผยแพร่ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา สร้างความเชื่อมใสศรัทธาให้เกิดแก่ชาวกระเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ตามเชิงดอยผาหนาม จนสามารถเปลี่ยนความเชื่อจารีตประเพณีของชาวกระเหรี่ยงที่นับถือผีไหว้เจ้า ให้หันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และหันมากินมังสวิรัติแทนเนื้อสัตว์

วัดพระพุทธบาทผาหนาม ปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งของอำเภอลี้ ภายในวัดมีสองจุดให้ได้ชมคือ ตัววัดที่ตั้งอยู่ด้านล่างจะมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของครูบาอภิชัยขาวปีเป็นจุดเด่น ภายในวัดได้เก็บสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของครูบาอภิชัยบาวปี ซึ่งบรรจุไว้ในโลงแก้ว ณ หอปราสาทรักษาศพ วัดพระพุทธบาทผาหนามแห่งนี้ และในทุกวันที่ 3 ของเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีประเพณีเปลี่ยนผ้าครองสรีระครูบาอภิชัยขาวปี มีศิษยานุศิษย์หลั่งไหลมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ส่วนอีกจุดคือองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอย 2 องค์ (พระธาตุทอง พระธาตุขาว) โดยมีสะพานไว้สำหรับเดินเชื่อมถึงกัน นอกจากจะได้กราบไหว้พระธาตุแล้วหากใครที่เดินทางขึ้นไปบนพระธาตุช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้า จะได้เห็นกับทะเลหมอกและสามารถชมวิวทิวทัศน์ของอำเภอลี้ได้แบบ 360 องศาอีกด้วย

ครูบาท่านองค์ที่สาม คือ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา แห่งวัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จ.ลำพูน
ครูบานักพัฒนา ด้วยวัตรปฏิบัติและคำสั่งสอนของท่านทำให้ชาวไทยภูเขาที่พเนจรร่อนเร่ ได้เปลี่ยนคนที่นับถือผีให้กลายเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์ และได้เปลี่ยนคนที่กินเนื้อสัตว์แทบทุกชนิด มาเป็นคนที่กินมังสวิรัติ ท่านได้พัฒนาชาวเขาที่ด้อยความรู้ ที่ไร้ฝีมือ ให้ช่วยสร้างโบสถ์สร้างศาลาสอนวิชาช่างให้แก่ชาวเขาเหล่านั้นจนเป็นความรู้ที่ติดต่อ และส่งผ่านความรู้เหล่านั้นสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม วัดประจำหมู่บ้านชุมชนพระบาทห้วยต้ม ทุกๆ เช้าชาวบ้านจะไปทำบุญใส่บาตรกันที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อาหารที่ถวาย คือ ผักสด น้ำพริก และข้าว สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อของใส่บาตรจากตลาดภายในหมู่บ้าน ซึ่งถ้าหากมาท่องเที่ยวที่ชุมชนพระบาทห้วยต้มในช่วงวันพระ ก็จะพบพี่น้องชาวปกาเกอะญอ พร้อมลูกหลานแต่งตัวด้วยชุดชาติพันธุ์สีสันสวยงามพากันมาที่วัด และมีการจัดลำดับการตักบาตรโดยเริ่มจากผู้ชาย ผู้หญิงที่มีครอบครัวและสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงานตามลำดับ ซึ่งถือเป็นภาพที่หาดูไม่ได้อีกแล้ว เพราะชาวบ้านทุกคนจะมารวมตัวกันที่วัดแห่งนี้เพื่อทำสังฆทาน ทำวัตร สวดมนต์ ทำให้สามารถซึมซับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวพระบาทห้วยต้มได้อย่างท่องแท้
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย สถาปัตยกรรมศิลปะล้านนา สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ที่ขุดจากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด นับว่าพระมหาธาตุเจดีย์ศิลาแลง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีฐานกว้าง 40 x 40 หรือเท่ากับ 1ไร่ ส่วนสูงจากบัวยอดฉัตรลงมาถึงพื้นยาว 64.39 เมตร สีทองเหลืองอร่าม โดดเด่นเห็นแต่ไกล เป็นเจดีย์ที่ชาวปกาเกอะญอให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อก่อนชาวปกาเกอะญอที่อาศัยในชุมชนห้วยต้มจะต้องเดินทางไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า แต่ด้วยว่าชาวปกาเกอะญอบางคนมีเงินน้อยไม่สามารถเดินทางไปพม่าได้ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงจัดสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย นี้ขึ้นโดยจำลองเจดีย์ชเวดากองของประเทศพม่า เพื่อให้เป็นพุทธเจดีย์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ให้ชาวปกาเกอะญอและพุทธศาสนิกชนทั่วไปมากราบไหว้บูชา

พัชรินทร์ คันธรส ข่าวมุมเหนือ

CMThaiNews

Photo gallery